Username
  
   Password
  
  

สมัครสมาชิกใหม่เชิญทางนี้

สถิติวันนี้ 10   คน
สถิติทั้งหมด 706730    คน


 

 

 

 

     ประวัติ วัดพะเนียด


ประวัติวัดพะเนียด

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด

          วัดพะเนียด   ตั้งอยู่บ้านพะเนียด  หมู่ที่ 3  ตำบลขันเงิน  อำเภอหลังสวน  จังหวัดชุมพร  สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต 

           ตั้งวัดเมื่อ  พุทธศักราช 2453  มีเนื้อที่  25 ไร่  89 ตารางวา  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  ประกาศ  ณ วันที่  20  กันยายน  พุทธศักราช 2542 

           วัดพะเนียด  สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ตั้งมาแต่โบราน  แต่ไม่ได้จดบันทึกเป็นหลักฐาน มีการค้นประวัติได้ในช่วงปีสุดท้ายของการครองราชย์ในรัชกาลที่ 5  จากเอกสารของกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ร.ศ.129 (พุทธศักราช 2453) เป็นเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนมูลการศึกษาที่เมืองหลังสวน 12 โรง  มีใจความว่า

           "  ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร  ขอประทานกราบเรียน พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์  ทราบฝ่าพระบาท  ด้วยได้รับใบบอกมลฑลชุมพร ที่ 50/7831 ลงวันที่ 8 มกราคม ศกนี้ ว่า  ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวนมีใบบอกมาว่า  ได้จัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นที่เมืองหลังสวน 12 โรง ใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียน  ได้เปิดสอนมาแต่เดือนพฤศจิกายนศกนี้แล้ว มีสำเนารายนามโรงเรียนและจำนวนครูแจ้งในบาญชีที่ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมหนังสือนี้แล้ว         ผู้จัดการตั้งโรงเรียนทั้งนี้ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล ถ้ามีโอกาศอันควร ขอฝ่าพระบาทได้โปรดนำความถวายบังคมทูลเกล้าฯพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ "

บัญชีโรงเรียนในเมืองหลังสวนที่ตั้งขึ้นใหม่

 ศก 129 (พุทธศักราช 2453)

  เลขที่     ชื่อโรงเรียน     ตั้งที่ตำบล    ชื่อครู      จำนวนนักเรียน

    8         วัดพะเนียด        ขันเงิน       พระน้อม         18

ตามหลักฐานนี้วัดพะเนียดมีอายุประมาณ 100 ปี ในปีพุทธศักราช 2553  ข้อมูลจากหนังสือ เมืองหลังสวนอนุสรณ์ 100 ปี สวนศรี ปีพุทธศักราช 2442-2542 

      จากหลักฐานอีกฉบับของหนังสือ   นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ 79 ฉบับที่9 ประจำเดือน มกราคม พุทธศักราช 2539 

         ....................................................................................................................

    เรื่อง ระยะทางสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ในมลฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช ๒๔๕๕

              ตอนที่ ๒ ถึงมลฑลชุมพร  เสด็จขึ้นเมืองหลังสวน

  ๓. วันที่ ๑๑ มิ.ย.   เวลาเช้า ๒ โมงเศษ  ถึงปากน้ำเมืองหลังสวน เรือทอดสมอ  พระครูวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี  เจ้าคณะเมือง ๑           พระยาวรฤทธิฦาชัย ปลัดมลฑล ๑  พระวิชิตวิทยากร ปลัดเมือง ๑ ออกมารับเสด็จ พระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลไปรับเสด็จ  พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๖) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ปากน้ำเมืองชุมพร  มาไม่ทัน ทรงปฏิสันถารแก่เจ้าคณะเมืองและข้าราชการผู้มารับเสด็จแล้วเสด็จลงจากเรือศรีธรรมราช ทรงเรือเป็ดเก๋งของพระครูธรรมวิจิตร เจ้าคณะเมือง  ขึ้นที่ท่าโรงภาษี ที่ปากน้ำ ทรงดำเนินไปทอดพระเนตร วัดปากน้ำ  ที่เขาตั้งชื่อว่า วัดอรุณ วัดนี้ตกแต่งรับเสด็จ มีพระสงฆ์สามเณรสวดชัยมงคลคาถารับเสด็จ ประทับอยู่สักครู่หนึ่งแล้วเสด็จกลับทรงเรือเป็ดเก๋งแจวขึ้นลำน้ำหลังสวนไปราว ๒ ชั่วโมง  ถึงท่าบางยิโร  เสด็จขึ้นที่นั่นมีข้าราชการและราษฎร์มารับเสด็จเป็นอันมากพลตำรวจภูธรยืนเข้าแถวทรงพระวอ เสด็จโดยถนน ตามทางมีราษฎร์ตั้งที่บูชาและจุดประทัด ผ่านหน้าวัดดอนโตนด ที่อยู่ของพระครูธรรมวิจิตร  เจ้าคณะเมือง  ที่นั่นมีพระสงฆ์ต่างวัดประชุมสวดชัยมงคลคาถารับเสด็จ  แต่ได้หาเสด็จไม่ ประทับบ้านพระยาพิชัยชลธี ผู้ว่าราชการเมือง ในเวลานี้ป่วยไปรักษาตัวอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ที่จัดไว้เป็นที่ประทับเสด็จ ถึงเวลาเช้าราว ๔ โมงครึ่ง  เสวยเพลที่นั่น ตั้งแต่เที่ยงแล้วมีฝนตกพร่ำเพรื่อ

   เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งล่วงแล้ว เสด็จจากที่ประทับทรงพระดำเนินไปตามถนนที่ตัดใหม่ ตั้งแต่ถ้าบางยิโร จนถึงศาลากลาง เสด็จวัดดอนโตนด  มีพระสงฆ์รับเสด็จเป็นอันมาก มาจากอำเภอสวี  อำเภอพะโต๊ะ  และเมืองไชยา (ใหม่)

   ก็ทรงมีปฏิสันถาร ตรัสถามถึงสุขทุกข์ความเป็นไปของวัดและพระภิกษุสงฆ์ และเหตุการณ์อันเป็นไปในคณะสงฆ์แล้วประทานยามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่เจ้าคณะทั้งหลาย และประทานหนังสือหัวใจไตรสิกขาแก่พระภิกษุสามเณรทั่วกัน ตรัสสั่งให้พระหัวเมืองสวดมนต์ถวายขัดตำนาน  พอเข้ารูปแต่ทำนองยังไม่ดี  ทำนองสวดฟังได้แต่ยังไม่เรียบ  เสด็จถึงที่ประทับค่ำแล้ว ทรงสวดมนต์พร้อมด้วยพระที่ตามเสด็จ และพระครูธรรมวิจิตร  พระครูใบฎีกานวล  ผู้ทูลลาออกมาอยู่วัดดอนโตนด เพื่อเป็นมงคลแก่บ้านเมืองฯ

   หมายเหตุ  ในวันนี้ ฯ  ที่ปากน้ำเมืองหลังสวน มีคนมาตั้งทำปลาหนาแน่นกว่าเมื่อเสด็จครั้งก่อน ๒๔ ปีล่วงแล้ว เป็นคนจีนโดยมาก มีตลาดตั้งด้วยฯ ที่วัดปากน้ำอันชื่อว่า วัดอรุณนั้น ภิกษุสามเณรคอยรับเสด็จไม่มีประคตอกคาด ใช้อังสะคาดอกแทนประคต ภิกษุครองดองอย่างพระธรรมยุต พาดสังฆาฏิเอาอังสะรัดอกรัดก็ไม่เป็น ดูปุกปุย สามเณรห่มจีบไม่เป็นทั้งไม่มีสังฆาฏิจะใช้ห่มดองแล้วเอาอังสะคาดอก ขำน่าหัวเราะ เป็นอย่างนี้เพราะพระมหานิกาย ในเมืองหลังสวนห่มผ้าเอาอย่างพระธรรมยุตมานานแล้วทั่วเมือง จนลืมห่มวิธีอย่างมหานิกายเสียแล้ว  รับเสด็จคราวนี้ ชะรอยจะเกรงพระบารมี  ปราถนาจะห่มอย่างพระมหานิกายแต่ห่มไม่เป็นเสียแล้ว ทั่งมีประคตจะใช้ด้วยจึงทำเช่นนั้น  ทอดพระเนตรเห็นแล้วพระสรวล  ตรัสว่า ทรงทราบแล้ว ว่าพระมหานิกายเมืองนี้ครองผ้าเอาอย่างพระธรรมยุต เป็นแต่ไม่ได้ทรงนึกว่าเธอจะห่มอย่างไรไปรับเสด็จ ทำอย่างนี้รุงรัง ไม่เป็นสมณะสารูป ห่มอย่างเก่าไม่เป็นก็จงห่มตามธรรมเนียมที่เคยใช้  พอปลดอังสะรัดอกออกแล้วดูเรียบร้อยดี ทั้งห่มแหวกก็เรียบร้อย

   ที่ตั่งเมืองหลังสวน อยู่ลึกขึ้นมาจากปากน้ำมาก ลำน้ำแคบ เป็นอย่างชนิดที่เรียกว่าคลอง ทางฝั่งขวา (ขาลง) ใกล้ปากน้ำมีเขาตกน้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่า เขาลิงต่าง  สองฝั่งน้ำมีต้นมะพร้าวและต้นหมากดาษดื่นไปสมชื่อเมือง  อันชื่อว่าหลังสวนนี้น่าจะเนื่องมาจากรังสวนที่แปลว่า มีสวนมากฯ  ท่าบางยิโร อยู่ฝั่งขวามือ เป็นที่ขึ้นลงสำหรับเมืองนั้นฯ  บ้านพระยาพิชัยชลธี ซึ่งไว้เป็นที่ประทับนั้นเป็นบ้านสวนมีหมาก มีมะพร้าวใบลานทั่วไป  เรือนทำด้วยไม้ยางตามแบบฝรั่ง ดูเป็นรมณียสถาน ถ้าเป็นวัดก็เข้าที ฯ

   วัดดอนโตนดนั้น  มีลานกว้างขวางดี ด้านหนึ่งลงน้ำ ด้านหนึ่งออกถนน แต่ของปลูกสร้าง  ตั้งแต่โรงอุโบสถตลอดถึงกุฎี ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน มีดีแต่โรงหลังหนึ่งเครื่องไม้จริงมุงจาก  เป็นโรงโถง ทำเป็น ๓ห้องกว้าง  กว้างขนาด ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบตัว  ยกพื้นอาสน์สงฆ์ ๒ ด้าน ใช้เป็นโรงธรรมสภาด้วย  ใช้เป็นโรงเรียนด้วย  ในเวลานี้ พระครูธรรมวิจิตร เตรียมจะสร้างอุโบสถใหม่  เผาอิฐ เผาปูนและเลื่อยไม้ไว้แล้วฯ  ในการรับเสด็จคราวนี้พระครูธรรมวิจิตร จัดการแข็งแรง ปลูกที่ประทับไว้ที่วัดดอนโตนด  แต่ไม่ดีไปกว่าบ้านพระยาพิชัยชลธี จึงแปลงเป็นที่เสด็จออกแขกเสีย ตั้งโรงครัวเลี้ยงอาคันตุกะทั้งคฤหัสถ์ผู้ตามเสด็จ  ทั้งพวกพระในพื้นเมืองผู้มาแต่ไกลฯ  นักเรียนวัดนี้ได้ยินว่ามีจำนวนถึงร้อย มีครูใหญ่ ๑ ครูรอง ๔ หรือ ๕ สอนทั่งมูลทั้งชั้นประถม  รับเสด็จควรจะสอนถวายตัว แต่มัวสาละวนเข้าแถวเสีย จะทอดพระเนตรการสอนก็ไม่สำเร็จ  ดูเหมือนการสอนจะยังบกพร่อง จึงไม่ได้ถวายด้วยฯ

   ๔.  วันที่ ๑๒ มิ.ย. ๒๔๕๕  เสด็จทอดพระเนตรวัดพะเนียด  เสวยเช้าแล้ว เวลาราว ๒ โมงเสด็จออกจากที่ประทับทรงพระดำเนินไปเขาเงิน  ตามทางที่ตัดใหม่ แยกจากถนนสายบางยิโรถมยังไม่เสร็จ ทางก็ไม่ไกลกี่มากน้อยราว ๒๐๐ เส้น แต่เป็นเวลาฝนตกทางลื่น ต้องค่อยๆเสด็จ ทั้งเสด็จหยุดปฏิสันถารพระบ้าง  คฤหัสถ์บ้าง ไปตามทาง กว่าจะถึงราว ๔ โมงครึ่ง เขาเงินนี้อยู่ริมน้ำครั้งก่อนได้เสด็จโดยทางเรือ  มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งสันฐานถ้ำเป็นเหมือนประทุนเรือ ด้านในตั้งแต่ข้างบนตั้งเป็นกระโจมขึ้นไป ไม่โค้งเป็นประทุน มีช่องหลืบไม่เป็นปล่อง โปร่งพอพักอยู่ได้สบาย  มีพระพุทธรูปนั่งอยู่สัก ๓ องค์ ที่ขาดไม่ได้ตามธรรมเนียมของถ้ำ ที่แง่เขามีเจดีย์ย่อมอยู่องค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯให้  พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมือง สถาปนาขึ้นไว้เมื่อพุทธศก ๒๔๓๒   เดิมเขานี้มีชื่อว่า  เขาเอน   พระราชทานชื่อเปลี่ยนใหม่ว่า  เขาเงิน  เสด็จคราวนี้ฝนตก  ไม่ได้ทอดพระเนตรตามบริเวรฯ  อันที่จริงเขานี้ก็ไม่สนุก  แต่เมืองนี้ไม่มีอะไรจะให้แขกดู เขานี้จึงได้ออกหน้า เป็นที่ไปแห่งหนึ่งของแขกมาเมือง  ในที่นี้มีพวกชาวบ้านนำโภชนาหารมาถวายและเลี้ยงพระ  ทั้งพระตามเสด็จและพระเมืองนี้ไม่น้อยกว่า ๓๐ รูป  เสวยเพลในถ้ำพร้อมด้วยพระสงฆ์และประทานพระโอวาทแก่ชาวบ้าน  ทั้งชายหญิงนั่งล้อมฟังแน่น  เกือบเต็มถ้ำมีอาการสนิทสนมและยินดี  จบแล้วพระสวดอนุโมทนา  เสด็จกลับจากเขาเงิน  เวลาราวบ่ายโมงเศษ ฝนตกไม่รู้จักหาย ทางคนเดินมากเข้าเมื่อคราวไปยิ่งลื่นหนักเข้า  ต้องค่อยๆเสด็จ

     เสด็จทอดพระเนตรวัดพะเนียด และวัดปากสระ  วัดแรกพระเป็นธรรมยุต มี ๒ รูป  วัดหลังเป็นมหานิกาย มี ๙ รูป  ที่ริมวัดพะเนียด มีพะเนียดดินใหญ่แห่งหนึ่ง คนในเมืองนี้ไม่รู้จักว่าอะไร  พระครูธรรมวิจิตร  นำเสด็จทอดพระเนตร  ตรัสว่า  เป็นพะเนียดดินสำหรับจับช้างเหมือนพะเนียดที่เมืองลพบุรี  แต่ลพบุรีเป็นที่ราบ  คงพูนดินเป็นเทิน  ส่วนที่นี้อยู่ใกล้เขา  จะทำบรรจงหรือทำทั้งนั้น  ไม่ทรงทราบฯ    พะเนียดที่นี้พูนดินเป็นเทิน  ทำทางลาดไว้ด้านนอกด้านในเป็นโกรก มีช่องสำหรับช้างเข้า จะเท่าไหรไม่ได้ค้น  ลานในเป็นวงกว้างใหญ่ประมาณไม่ถูกแต่คนอยู่บนเนินแลเห็นโดยรอบ  ในนั้นกลางเป็นป่าไม้สูง คงเป็นของจัดให้มีมาเดิมแล้ว ริมดงเป็นทางเพราะต้นไม้ขึ้นไม่ใหญ่ น่าจะมีหนองน้ำด้วยแต่ไม่ได้ค้น  ดูน่าจะต้อนช้างเข้าขังไว้ได้นานวัน จับก็น่าจะจับในนั้นเองฯ  ชื่อวัดพะเนียด นั้นคงหมายความว่า อยู่ชิดกับพะเนียดนี้เอง  เสด็จกลับถึงที่ประทับบ่าย ๓ โมงเศษ  ฯลฯ

      หมายเหตุทั่วไปฯ   วัดในเมืองนี้ที่ได้เสด็จและผ่านไปแลเห็นอยู่เป็นวัดโกโรโกเตทั้งนั้น มีกุฎีพระอยู่อย่างกระท่อม เครื่องผูกฝาไม้ไผ่ทุบหรือขัดแตะ มุงจากเป็นพื้น  โรงอุโบสถและศาลามีบ้างไม่มีบ้าง แต่น้อย ที่ก่ออิฐไม่มีเลย เรือนราษฎรก็เช่นกัน  นี่ส่อว่าราษฎรในเมืองยากจน  แต่ทำวัดพอสมกำลังราษฎรดีอยู่  หากชำรุดลงปฏิสังขรได้ง่าย ของเครื่องทำก็มีในเมืองนี้เอง  รู้จักจัดก็พอจะดูได้ ควรทำลานวัดให้เป็นอย่างวนะ คือ เป็นสวนป่า หรือเรียกว่าอารามในบาลีนั้นเอง ทำโรงอุโบสถและศาลากุฎีด้วยไม้ไผ่มุงจาก แต่ให้โปร่ง ถ้าเป็นที่ประชุมให้กว้างขวางพอ ดังนี้ก็น่าจะรื่นรมย์

     พระสงฆ์ในเมืองนี้ เดิมเป็นพระมหานิกายทั้งนั้น  แต่ห่มผ้าแบบธรรมยุต แต่ยังสะพายบาตรเที่ยวรับภิกษา  พระครูธรรมวิจิตร เจ้าคณะเมือง  เดิมเป็นพระมหานิกาย เป็นผู้ชักโยงภายหลัง  พระครูธรรมวิจิตรแปลงเป็นธรรมยุตได้ ๙ ปีเข้านี่  จึงมีวัดธรรมยุต  ในบัดนี้มี ๓ วัด  คือ  วัดดอนโตนด ๑ ที่อยู่ของพระครูธรรมวิจิตร  วัดหน้าสัก ๑ อยู่ไกลไม่ได้เสด็จ  วัดพะเนียด ๑  แต่ไม่เจริญด้วยเหตุ ๒ ประการ พึ่งตั้งใหม่  พระครูยังเป็นพระอุปัชฌายะเองไม่ได้การบวชยังไม่เป็นไปสะดวก บางคราวยังต้องรับพระอุปัชฌายะจากที่อื่น  บางคราวต้องพากุลบุตรไปบวชในเมืองอื่นนี้อย่างหนึ่ง  ตั้งขึ้นในสมัยที่คนจับจืดจางในการบวชอย่างหนึ่ง   ที่วัดดอนโตนดเองเสด็จครั้งก่อนยังเป็นมหานิกาย  มีพระราว ๓๐ รูปได้อยู่  คราวนี้มีเพียง ๗ รูป  เป็น ๑๐ รูปทั้งอุปสมบทใหม่  รวมทั้งหัวเมืองมีเพียง ๒๐ รูปฯ  แม้พระมหานิกายที่เป็นพื้นเมืองก็ร่วงโรยลงเหมือนกัน  เพราะมีคนบวชน้อยลง  แต่เดิมวัดมีพระมาก ถึง ๓๐ รูป ๔๐ รูป ก็มี  บัดนี้วัดหนึ่งอย่างมากมีไม่ถึง ๒๐ รูป  คิดถัวเพียง ๘ รูป  แต่ในอำเภอนอกๆ มีไม่ครบคณะสงฆ์โดยมากฯ  พระสงฆ์เมืองนี้มีน้อยลงโดยรวดเร็ว  พระครูธรรมวิจิตร กราบทูลเหตุว่า  คนหนุมๆเข้าทำราชการแต่อายุยังไม่ครบอุปสมบทเมื่อกำหนด ลาบวชก็เพียงพรรษาเดียว  ผู้ที่ถูกเรียกเป็นตำรวจภูธรพ้นกำหนดราชการสมัครเป็นต่อก็มี  ที่ออกแล้วมีครอบครัวไปก็มี  คนจึงบวชพรรษาเดียวเป็นพื้น

    มหานิกายเมืองนี้ เพราะห่มผ้าเอาอย่างธรรมยุต  ใช้ผ้าสบงจีวรตัด สังฆาฏิ ๒ ชั้นเป็นพื้น  มีผู้เอามาจากกรุงเทพฯ และขายตามตลาด  ราคาราวไตร ๒๒ บาท เป็นผ้าเนื้อหนา ทำเองที่นี่ก็ได้เหมือนกันฯ  ในการอุปสมบทใช้สวดกรรมวาจาออกชื่อผู้อุปสมบท ได้รับแนะนำจากเจ้าคณะมณฑล ฯลฯ

     หมายเหตู   พระครูธรรมวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี ( เจ้าคุณเฒ่า หนู  อชิโต) วัดดอนโตนด  ปัจจุบันชื่อ  วัดโตนด     วัดหน้าสักปัจจุบันชื่อ  วัดนาสัก

..........................................................................................................................

รายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดพะเนียด

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 ๑. พระน้อม         

     ปกครองเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)         

 ๒. พระปลัดสุข    

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗

 ๓. พระปลัดเฟื่อง 

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

 ๔. พระอธิการอิ่ม  ปวฑฺตโน 

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๙

 ๕. พระครูบวรธรรมนิวิฐ (ประสิทธิ์ ทมเสฏฺโฐ)

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๙       

 ๖. พระสว่าง เขมโก 

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๘

 ๗. พระครูวิจิตรกรณีย์ (สุขุม  จารุวณฺโณ)

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๗

 ๘. พระครูวินัยธรธานี ฐานธมฺโม 

     ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘- ปัจจุบัน

..............................................................................................................

 

      ปัจจุบัน  วัดได้มีโครงการพัฒนาบูรณะปฏิสังขรภายในเขตวัดให้เจริญขึ้น ตามนโยบายของวัด เพื่อให้เป็นศาสนสถานที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรมแก่ผู้มีศรัทธาทั่วไป

สิ่งก่อสร้างที่ได้บูรณะปฏิสังขรและสร้างใหม่

๑. โรงอุโบสถ ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๐ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้

๒. ศาลาเอนกประสงค์ ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้

๓. ศาลาการเปรียญ  ขนาด กว้าง ๑๔ เมตร  ยาว ๒๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กบูรณะเพิ่มเติม เป็นงบประมาณ  ๖๗๐,๐๐๐ บาท       

๔. หอไตร ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว๖.๕๐ เมตร สองชั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

๕. กุฎีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้ จำนวน ๑ หลัง

๖. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว๔ เมตร  เป็นคอนกรีตเสริมไม้ จำนวน ๑๐ หลัง

๗. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร เป็นเรือนไม้แบบทรงไทยภาคกลาง จำนวน  ๒ หลัง งบประมาณหลังละ ๒๕๐,๐๐๐บาท

๘. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร  มีมุขหน้าแบบทรงไทยประยุกค์ ก่ออิฐ   ประสาน  เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้อง จำนวน ๑ หลัง  งบประมาณ  ๓๖๐,๐๐๐ บาท

๙. กุฏีเจ้าอาวาส ขนาดกว้าง  ๑๑ เมตร ยาว ๑๒ เมตร  มีระเบียงมุขหน้าทรงไทย เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด หลังคามุงกระเบื้องว่าว  ตัวเรือนก่ออิฐถือปูน งบประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท

๑๐.โรงครัว ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร  งบประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ บาท               

๑๑.ห้องสุขารวมแห่งที่ ๑  ขนาดกว้าง ๔ เมตร  ยาว ๑๒ เมตร ก่ออิฐถือปูน จำนวน ๘ ห้อง

๑๒.ห้องสุขารวม แห่งที่ ๒ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร ก่ออิฐประสาน จำนวน ๔ ห้องงบประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท

๑๓.ห้องสุขารวม แห่งที่ ๓ ขนาดกว้าง  ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร ก่ออิฐประสาน จำนวน ๔ ห้องงบประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท

๑๔.ห้องสุขารวมแห่งที่ ๔ ขนาดกว้าง ๓ เมตร  ยาว ๕ เมตร ก่ออิฐถือปูน จำนวน ๓ ห้อง 

๑๕.กำแพงเขตวัด ด้านหน้าทิศใต้ เป็นคอนกรีต  ก่อด้วยหินศิลาแลงยาวประมาณ ๑๔๘ เมตร งบประมาณ  ๔๘๐,๐๐๐ บาท

๑๖.กำแพงเขตวัด ด้านทิศตะวันตก เป็นคอนกรีต เสริมเหล็กก่ออิฐฉาบปูนยาวประมาณ ๒๓๐ เมตร  งบประมาณ  ๕๔๐,๐๐๐ บาท

 

(มีต่อ)

 

 

 

Copyright (c) 2006 by Watpanead

 

วัดพะเนียด 21 ม.3 ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร 86110

โทร. 077-541-381 Email. bosspanead@hotmail.com

 
 


Powered by AIWEB